แม้จะยังไม่ใช่การเปิดอิสระอย่างเต็มที่ให้กับนักเรียนในเรื่องการไว้ทรงผม แต่ก็ถือเป็นก้าวแรกที่ดีไม่ใช่น้อยที่เราจะได้เห็นการปรับเปลี่ยนทรงผมนักเรียนกันในปีการศึกษาหน้า (แม้ว่าจะเรียนออนไลน์ซะเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากสถาณการณ์ COVID-19 ) ว่าไม่ใช่ทรงผมแบบเกรียนติดหัว หรือสั้นเสมอติ่ง(หู)อีกต่อไป
หากย้อนอดีตที่ผ่านมาเราก็ไม่ได้พึงพอใจนักกับการถูกบังคับให้ตัดผมแบบเกรียนติดหนังหัวหรือสั้นเสมอติ่งหูมากสักเท่าไร เชื่อว่าใครหลายๆคนก็คงเคยต้องวิ่งหนีการเข้าแถวหน้าเสาธงในวันตรวจทรงผม และก็มีบ้างบางครั้งที่ถูกคุณครูเอากรรไกรหรือบัตตาเรียนมาไถ่หัวอยู่บ่อยๆ แล้วก็ไม่ใช่ว่าคุณครูจะไถ่ดีให้เป็นทรงสวยงาม แต่กลับไถ่แบบแหว่งๆครึ่งๆกลางๆ ทำให้เราเกิดความอับอายแล้วก็ต้องรีบพุ่งตรงไปร้านตัดผมเพื่อแก้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้เด็กเกิดความคับข้องใจและคิดว่า “ผมก็ผมของหนู ทำไมมันถึงไปเดือดร้อนคนอื่น จะผมสั้นผมยาว ก็เรียนได้เหมือนกันไม่ใช่หรือ?”
จุดเริ่มต้นของการเรียกร้องยกเลิกเกรียน-ติ่ง
กระแสการเรียกร้องเรื่องทรงผมของนักเรียนไทยมีมาอย่างยาวนาน โดยหากจะสรุปสั้นๆก็พอจะพูดได้ว่าแท้จริงแล้วเรื่องทรงผมเกรียนของนักเรียนชายนั้นได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นการไว้ทรงรองทรงได้ตั้งแต่กฎกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ที่ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2515 ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงบางส่วนจากกฎกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2515) ว่า
ยกเลิกข้อกำหนดที่ว่าให้นักเรียนชายไว้ผมข้างหน้าและกลางศีรษะยาวไม่เกิน 5 เซนติเมตร และชายผมรอบศีรษะตัดเกรียนชิดผิวหนัง
กฎกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518)
แต่คนในสังคมยังให้ความสำคัญและเข้าใจว่าทรงผมนักเรียนชายที่ถูกต้องคือทรงเกรียนขาว 3 ด้านตามที่ระบุในกฏกระทรวง ฉบับที่ 1 เดิมมาอยู่เสมอ รวมทั้งทรงผมนักเรียนหญิงก็ไม่ได้มีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ซึ่งหมายความว่าหากยึดตามกฏกระทรวงฉบับที่ 2 นั้นนักเรียนหญิงยังคงต้องตัดผมสั้นเสมอติ่งหูอยู่ จนในปี พ.ศ. 2555 ได้เกิดการเคลื่อนไหวของนักเรียนเพื่อเรียกร้องสิทธิเรื่องทรงผมของนักเรียนจนเกิดเป็นเสียงที่ดังมาพอให้กระทรวงศึกษาธิการออกหนังสือเวียนถึงโรงเรียนต่างๆเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันในการยึดปฏิบัติระเบียบทรงผมตามกฎกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ที่ให้นักเรียนชายสามารถไว้ผมรองทรงได้ ไม่จำเป็นต้องเกรียนเสมอไป และการไว้ผมของนักเรียนหญิงให้เป็นไปตามระเบียบของแต่ละโรงเรียนกำหนด
ดูเหมือนจะมีความหวังขึ้นมาใช่ไหม? แต่มันไม่ใช่แบบนั้น เพราะภายหลังจากนั้นไม่นานก็เกิดการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. เมื่อปี พ.ศ. 2557 และการเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนทรงผมของนักเรียนก็เลื่อนลาง ละเลย และถูกลืมไปในที่สุด แต่อย่างไรก็ดีกระแสเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนทรงผมของนักเรียนก็ยังคงดำเนินต่อมาอย่างเงียบๆ ราวกับคลื่นใต้น้ำที่รอวันสำแดง ก่อตัวอย่างสงบนิ่งแต่เป็นวงกว้างและค่อยๆทวีรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้ที่โลกโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเพจเฟสบุ๊คอย่าง “องค์กรต่อต้านทรงผมนักเรียนไทย” ที่มีผู้ติดตามกว่า 53000 คน ต่างเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยเป็นอย่างมาก การติดต่อสื่อสาร รวมทั้งกระแสการเรียนร้องให้ปรับเปลี่ยนทรงผมของนักเรียนจึงเป็นกระแสที่จุดติดและทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นในเวลาต่อมา จนในที่สุดก็ส่งผลให้ในที่สุดในปีนี้เอง นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบันได้ทำการออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเรื่องทรงผมของนักเรียนฉบับใหม่ขึ้นมา ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญว่า
นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาว ไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย นักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสม และรวบให้เรียบร้อย
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563
ให้สิทธิ์ครึ่งๆกลางๆ
แอบดีใจที่น้องๆนักเรียนจะมีโอกาสได้ไว้ผมยาวขึ้นและเป็นอิสระมากขึ้นกว่าในสมัยก่อน แต่ระเบียบกระทรวงฉบับนี้ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยจริงใจกับนักเรียนสักเท่าไร เพราะในข้อที่ 6 ของระเบียบยังได้มีการแอบให้ช่องว่างกับสถานศึกษาเป็นผู้กำหนดทรงผมของนักเรียนได้อยู่ดี ดูเหมือนจะให้สิทธิ์แต่ก็ยังให้ไม่เต็มที่ พยายามให้ช่องทางกับโรงเรียนเป็นผู้กำหนดทรงผมได้อยู่ดี คราวนี้เมื่อเปิดเทอมคงต้องมาดูกันว่าโรงเรียนแต่ละแห่งจะยึดตามระเบียบกระทรวงฉบับบใหม่นี้หรือไม่ หรือจะยังคงความเป็น การศึกษาไทย 1.0 ไว้เหมือนเมื่อ 50 ปีก่อน
ผู้ใหญ่ในยุคโลกาภิวัฒน์จะหากลวิธีใดมาต่อกรกับเด็กยุคใหม่ที่กล้าสู้แบบหัวเด็ด ตีนขาดเพื่อเสรีภาพบนร่างกายของพวกเขา การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะเรียกว่า “ชัยชนะ” ได้หรือไม่ หรือเป็นเพียงการสับขาหลอกของผู้ใหญ่ในกระทรวงเพื่อให้เด็กตายใจเพียงเท่านั้น